Tag Archive | รับ

“พงศ์เทพ” ชี้รับครูเกินจริงส่งผลต่อคุณภาพ

ที่มา   :  เดลินิวส์  วันที่ 7 มกราคม 2556

“พงศ์เทพ”รับครูเกินจริงส่งผลต่อคุณภาพ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพหารือเร่งด่วน ให้ได้ข้อสรุปก่อนรับนักศึกษาปี 2556 พร้อมรับดูเรื่องเงินเดือนอาจารย์น้อยกว่าครู 

Picture24
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มตัวแทนข้าราชการอาจารย์ และเจ้าหน้าที่สังกัดมหาวิทยาลัย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)ประสานมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.)และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขอให้ปรับเงินเดือนให้เท่ากับครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ว่า ตนคงจะต้องขอไปดูรายละเอียดต่าง ๆก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องที่กลุ่มอาจารย์ขอจัดทำแท่งเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นเอกเทศ ไม่ต้องอิงกับแท่งเงินเดือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องดูรายละเอียดต่าง ๆเช่นกันว่าจะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร 

นายพงศ์เทพ ยังกล่าวถึงกรณีการผลิตบัณฑิตคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ที่มีมากในแต่ละปี ว่า ตัวเลขการผลิตครูที่ทางที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.)เสนอมากับข้อมูลที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มีอยู่ยังไม่ตรงกันแต่สิ่งที่พบคือข้อมูลการผลิตครูของมหาวิทยาลัยต่าง ๆมีจำนวนเกินความต้องการ และหากรวมกับข้อมูลผู้ที่จบครูก่อนหน้านี้ยิ่งมากเกินไป ดังนั้นถ้าจะยังผลิตเพิ่มอีกจำนวนบัณฑิตจะล้นจำนวนงานที่รับได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อผู้เรียนและอาจส่งผลต่อคุณภาพของผู้ที่จะเข้าไปเรียนลดลงด้วย ดังนั้นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่ผลิตครูต้องมาหารือกันว่าจะผลิตครูในละปีจำนวนเท่าไหร่ สาขาไหนบ้าง และสถาบันไหนจะผลิตครูบ้าง โดยศธ.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการหารือเรื่องนี้ นอกจากนี้จะต้องดูเรื่องของการผลิตครูในโครงการครูมืออาชีพด้วยที่จะต้องปรับการดำเนินการต่าง ๆใหม่ให้เหมาะสม รวมทั้งจะต้องให้ทุนและประกันการมีงานทำด้วย เพราะสาขาที่ให้ทุนนั้นเป็นสาขาที่ขาดแคลน อย่างไรก็ตามศธ.คงจะต้องเร่งดำเนินการสรุปข้อมูลทั้งหมดให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันก่อนที่จะมีการปิดรับนิสิตนักศึกษาศึกษา2556 

ด้าน รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี มก. กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมาดูแลบุคลากรทุกแท่งและทั้งระบบให้เท่าเทียมกัน อย่างเช่นเงินเดือน ไม่เช่นนั้นถ้าใครได้รับผลประโยชน์ที่แตกต่างหรือน้อยกว่าจะออกมาเรียกร้องตลอด หรือที่ว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิ์ จนไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการศึกษา 

 

 

คำแนะนำรับประเมินภายนอก(รอบสาม)

ที่มา  :   www.onesqa.or.th

สมศรอบ3

 

ครูปรับวุฒิ เตรียมรับเงินเดือนใหม่

ที่มา  :   http://www.otepc.go.th

Picture24

เงินเดือนวูฒิที่รับรอง

ตะลึง! รับน.ศ.ครูปี55ทะลุ1แสน บรรจุหลักพัน

ที่มา  :  มติชนออนไลน์   วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:30:52 น.

 

นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยในการบรรยายพิเศษในการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องการพัฒนากรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ (พ.ศ.2555-2558) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ ว่า วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย สะท้อนจากการถูกจัดอันดับถดถอยลงตามลำดับทุกปี อาทิ การประเมินของ World Economic Forum (WEF) ล่าสุด ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเทศไทย อยู่อันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยไทยตามหลังเวียดนาม ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ระดับอุดมศึกษา อยู่อันดับ 8 ตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ซึ่งตนไม่อยากเชื่อผลประเมิน แต่ก็ต้องรับทราบข้อมูลไว้ก่อน

 นอกจากนี้ การจัดอันดับของหน่วยงานอื่นๆ ไทยก็ถูกจัดอันดับต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีลำดับที่ดีขึ้น ทั้งพบว่าการประเมินความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพรวมอยู่อันดับที่ 30 จากประเทศที่เข้าร่วม 59 ประเทศ แต่เมื่อแยกเป็นด้านๆ คะแนนจะต่ำมาก เช่น ด้านการศึกษาอยู่ลำดับที่ 52 ด้านประสิทธิผล ลำดับที่ 57 ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ลำดับที่ 40 เทคโนโลยี ลำดับที่ 50 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า สถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson จัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้าย ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด โดยสถาบันนี้ได้วิจัยและมีข้อสรุปว่า เงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และการที่ครูอาจารย์มีเงินเดือนสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราผลักดันเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพในการสอนควบคู่กันไปด้วย

 ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการศึกษาของชาตินั้น รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะปฏิรูปหลักสูตรและปฏิรูปครู ขณะนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ระหว่างการปรับรื้อ  ส่วนการปฏิรูปครูนั้น จะต้องเร่งวางระบบการผลิตและพัฒนาที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ออกมาระบุเพียงว่า 10 ปีข้างหน้าเราจะมีครูที่เกษียณอายุราชการ 200,000 อัตรา  แต่สถาบันการผลิตครูกลับไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการผลิตครู โดยพบว่า ในปี 2555 มีอัตราว่างเพื่อบรรจุครู 1,500 อัตรา แต่มีผู้จบครูมาสมัคร 190,000 คน แสดงว่าขณะนี้มีคนที่มีใบประกอบวิชาชีพครูที่ไม่มีงานทำกว่า 200,000 คน ขณะที่สถาบันการผลิตครูรับนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 50,000 คน และที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ ปี 2555 การรับนักศึกษาปี 1 ของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ พุ่งสูงถึง 100,000 คน ดังนั้น ในอีก 5 ปีจะมีบัณฑิตที่จบด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลายแสนคนและคาดว่าจะหางานทำกันไม่ได้เพราะแต่ละปีมีอัตราว่างบรรจุไม่กี่พันคน 

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งบประมาณเพื่อการวิจัยทางการศึกษาลดลงตามลำดับในแต่ละหน่วยงานวิจัย อย่างสภาวิจัยแห่งชาติได้งบประมาณปีละ 1,600 ล้านบาท แต่เป็นงบวิจัยการศึกษาเพียง 25 ล้านบาทหรือ 1.5% และมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่ปีล่าสุดถูกปรับลดงบประมาณเหลือเพียง 800 ล้านบาท ฉะนั้น จะเห็นว่านโยบาย งบประมาณและการวิจัยทางการศึกษาต้องไปด้วยกันถึงจะขับเคลื่อนการศึกษาได้ 

นายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วที่จะทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายการศึกษาของรัฐบาล เพราะนโยบายที่ตั้งบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มต้นตรงนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้ถูกต้อง ส่วนที่มีการวิจัยแล้วไม่ค่อยนำไปใช้นั้น คิดว่าประเทศไทยประสบปัญหาทั้งเรื่องไม่มีการวิจัยและการนำผลไปใช้ ฉะนั้น จำเป็นต้องดำเนินการทั้ง 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน

 

รายชื่อครูรางวัล”หนึ่งแสนครูดี”2555

หนึ่งแสนครูดี

ที่มา  :  คุรุสภา

สพฐ.ซักซ้อม”สมัครครูผู้ช่วย”จำเป็น/เหตุพิเศษ

ดาวน์โหลดแบบ PDF  :  http://202.143.174.11/personnel/news2011/upfiles/616.pdf

ซักซ้อม การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ

เลื่อนเปิดเทอมรับอาเซียนรอบทสรุป

คอลัมน์: การศึกษา: เลื่อนเปิดเทอม…รับอาเซียนปัญหาที่ยังรอบทสรุป…!!
ที่มา  :  มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ 16 – 22 พ.ย. 2555

ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันจนถึงขณะนี้ กรณีนโยบายการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้กำกับดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงยืนยันไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้มหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่งที่เป็นสมาชิก เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นเดือนสิงหาคม ของทุกปี

แน่นอนว่าเมื่อ ทปอ. ไฟเขียวให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เลื่อนเปิดเทอมแล้ว แต่ สพฐ. ยืนกรานว่าไม่เลื่อนเปิดเทอม โดยให้เหตุผลว่ากำหนดการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในปัจจุบัน สอดรับกับวิถีชีวิตของคนไทยอยู่แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เลยทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

ล่าสุดพบว่าการเปิดภาคเรียนของระดับอุดมศึกษาตามปฏิทินประชาคมอาเซียน ส่งผลกับนิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่เรียนจบการศึกษาชั้นปี 4 ต้องไปฝึกสอนเป็นเวลา 1 ปีการศึกษาในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ 2 ภาคเรียนเกิดปัญหาขึ้น เพราะโรงเรียนยังคงเปิดเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม

ทำให้มหาวิทยาลัยที่เลื่อนเปิดภาคเรียนใหม่ และนิสิตนักศึกษาที่ต้องฝึกสอนในโรงเรียน อาจฝึกสอนได้ไม่ครบ 1 ปี

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมหารือเรื่องนโยบายการเปิด-ปิดภาคการศึกษาตามปฏิทินประชาคมอาเซียนในปี 2557 ที่มี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ., นายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่า สพฐ. จะยอมปรับ และขยับกำหนดการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถฝึกสอนได้โดยไม่ต้องเสียเวลา

โดยมอบหมายให้คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ สพฐ. กลับไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

ขณะที่นายชินภัทรชี้แจงว่า สพฐ. ได้หารือเรื่องดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยรวบรวมข้อมูลการเปิด-ปิดภาคเรียนของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พบว่า แม้ในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ยังเปิด-ปิดภาคเรียนหลากหลายอยู่

การที่มหาวิทยาลัยไทยเลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับปฏิทินอาเซียน เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกเรียนมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ในอาเซียน แต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 10 ล้านคน ทำให้การเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ทำได้ลำบาก

นอกจากนี้ การที่ สพฐ. จะพิจารณาเลื่อน หรือไม่เลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนก่อน

หากเลื่อนให้ตรงกับมหาวิทยาลัยอาจเกิดผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปถึง 4 เดือน โดยเปิดเรียนช่วงเดือนสิงหาคม

ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีความเห็นว่าให้ปรับการเปิดภาคเรียนเล็กน้อย สพฐ. อาจปรับได้ 2 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 วัน โดยจะไปเปิดเรียนประมาณต้นเดือนมิถุนายนในปี 2557

นายชินภัทรแจกแจงต่อว่า การปรับดังกล่าวจะอยู่ในวิสัยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่างๆ ของผู้ปกครอง และนักเรียนมากนัก โดย สพฐ. จะประชุมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง นักเรียน ครู เป็นต้น เพราะการเลื่อนเปิดภาคเรียนต้องดูว่ามีผลกระทบต่อส่วนไหนบ้าง รวมทั้ง ต้องดูตารางการทดสอบโอเน็ต การสอบ GAT และการสอบ PAT รวมทั้ง แอดมิสชั่นส์ด้วย ซึ่งทุกอย่างจะต้องลงตัว

สพฐ. คาดการณ์ว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ นายศิริชัย กาญจนวาสี มองว่า การทำให้ระบบการเปิด-ปิดภาคเรียนทั้งระดับอุดมศึกษา กับการศึกษาขั้นพื้นฐานสอดคล้องกัน จะทำให้ความขัดแย้งหายไป ดีต่อเอกภาพของการจัดการศึกษา และสอดคล้องกับนานาชาติในการร่วมจัดกิจกรรมในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ หรือนักศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตร 5 ปี และคุรุสภากำหนดให้ต้องฝึกสอน 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา
หากขยับปฏิทินการศึกษาในปี 2557 ตามมติที่ ทปอ. จะทำให้ภาคเรียนที่ 2 ต้องเปิดเรียนกลางเดือนมกราคมไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นนิสิตนักศึกษาจะต้องไปฝึกสอน แต่หากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ยังเปิดเรียนตามปกติในเดือนพฤษภาคม จะทำให้นิสิตกลุ่มนี้สูญเสียโอกาสสอนนักเรียน

หากขยับเพื่อให้สอดรับในการส่งนิสิตไปฝึกสอนจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

สอดคล้องกับความเห็น นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคามในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) บอกว่า การเลื่อนเปิดเทอมออกไปอีก 20 วันของ สพฐ. ไม่น่าจะมีประโยชน์ โดยเฉพาะต่อการฝึกสอนของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ จึงเห็นว่าควรทำให้สอดคล้องกันทั้งระบบน่าจะดีกว่า

ขณะนี้คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างวิเคราะห์ศึกษาข้อดีข้อเสียของการเลื่อนเปิดภาคเรียนในประเด็นต่างๆ ซึ่งวันที่ 20 พฤศจิกายน จะสรุป และความเห็นจากคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั้ง 75 แห่งอีกครั้ง แต่ข้อเสนอของ ส.ค.ศ.ท. เบื้องต้นต้องการให้ สพฐ. เลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับอาเซียน เพราะเท่าที่ดูผลดีมากกว่าผลเสีย ที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้ด้วย

ด้านความเห็น นายธวัชชัย พิกุลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 4 และนายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (สพท.) มองว่า เรื่องนี้ สพฐ. และมหาวิทยาลัยต้องไปหารือให้ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้เลื่อนเปิดเทอมทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในอนาคต ช่วงปีแรกๆ อาจจะเกิดความสับสนกันบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ปรับกันไปเรื่อยๆ ในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษาพร้อมปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี นโยบายการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปี ประตูสู่ประชาคมก็เริ่มเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล, ศธ. และมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้เหตุผลมาพูดกันอย่างจริงจัง และหาข้อสรุปว่าจะทำเช่นไรเรื่องการเลื่อนเปิดเทอม

รวมทั้ง ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพ และยึดผลประโยชน์ของทุกคน ที่สำคัญสามารถก้าวเดินไปพร้อมๆ กับประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างภาคภูมิใจ ตรงกันข้ามหากทุกหน่วยงานยังถกเถียงกันไม่ยอมจบ และยังคงเดินคนละทิศคนละทางเหมือนทุกวันนี้

เพราะไม่เช่นนั้น ท้ายที่สุด “ไทย” อาจจะกลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ไม่มีความพร้อมด้านการศึกษาก็เป็นได้…

สถานศึกษาประเมินรอบ3 ระยะ1-2

รายชื่อสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 (ช่วงการประเมินระยะที่ 1 และระยะที่ 2)
(รวมรายชื่อสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ประเภทโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 101 แห่ง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 14 แห่ง)

 

สมาชิกกบข.หนุนคลังแก้กฎบำนาญ

ที่มา  :  มติชนออนไลน์   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:31:28 น.

ประธานเครือข่ายสมาชิก กบข.หนุนคลัง แก้กฎบำเหน็จ-บำนาญให้เลือกแบบเดิมได้ แนะเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ด้วย เลขาธิการกองทุนฯรับระบบเดิมได้เงินมากกว่า หากรับราชการเกิน 35 ปี 

น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม กรณีกระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางแก้ไขการจ่ายเงินบำนาญให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.ใหม่ หลังมีข้าราชการส่วนหนึ่งร้องเรียนว่า ผลการตอบแทนน้อยกว่าการจ่ายบำนาญแบบเดิม โดยจะให้เลือกว่าจะรับบำนาญกับ กบข.ต่อไป หรือจะกลับไปรับบำนาญแบบเดิมก็ได้ว่า สมาชิก กบข.ปัจจุบันมีจำนวน 1.2 ล้านราย มีข้าราชการที่รับราชการก่อนปี 2540 ที่เลือกเข้าเป็นสมาชิก กบข.ประมาณ 8 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นครูมากกว่า 40% นอกจากนั้นเป็นข้าราการส่วนอื่นๆ รวมทั้งทหารด้วย โดยกลุ่มนี้จะมีสิทธิเลือกได้ว่า จะรับบำนาญแบบใด 

น.ส.โสภาวดีกล่าวว่า หากสมาชิกดังกล่าวจะเลือกแบบเดิมทั้งหมดจะไม่กระทบกับ กบข.มากนัก เพราะจะมีส่วนที่ กบข.ต้องจ่ายคืนสมาชิกเพียงเงินสะสม 3% ต่อเดือน พร้อมผลประโยชน์จากการลงทุนเท่านั้น ส่วนของเงินประเดิมที่รัฐจ่ายเป็นก้อนจูงใจให้เข้ากองทุนช่วงแรก กับเงินสมทบและเงินชดเชยอีก 5% นั้น สมาชิกที่จะเลือกไปใช้บำนาญแบบเดิมต้องคืนให้รัฐทั้งหมด ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าต้องคืนแบบใด อาจจะหักไปหลังจากเกษียณแล้วได้รับเงินก็ได้ โดยต้องรอความชัดเจนของนโยบายจากกระทรวงการคลังและรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง 

“ขณะนี้คงยังประเมินไม่ได้ว่า สมาชิก 8 แสนรายนี้จะกลับไปเลือกบำนาญแบบเดิมทั้งหมดหรือไม่ แต่ยอมรับว่าคงจะมีไม่น้อยที่คิดว่า ถูกหลอกให้เข้ามาเป็นสมาชิก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุราชการเหลือไม่มาก หรือรับราชการมานานกว่า 35 ปี หากใช้บำนาญแบบ กบข.จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญน้อยกว่าสูตรเดิม ส่วนนี้อาจกลับไปใช้สูตรเดิม เพราะสูตรของ กบข.คำนวณอายุราชการต่อคนไว้ที่ 35 ปี บางกลุ่มอาจมีระยะเวลานานกว่านี้ เช่น กลุ่มทหารตามแนวชายแดนที่จะได้เวลาทวีคูณมากกว่าข้าราชการอื่นๆ หากเอาระยะเวลาทำงานมาคูณเงินเดือนสุดท้ายจะได้มากกว่าใช้สูตรของ กบข.” น.ส.โสภาวดีกล่าว 

น.ส.โสภาวดีกล่าวว่า ยอมรับว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยอาจไม่ถึง 8-9% เหมือนตอนที่ระบุไว้ โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงต่อเนื่อง และการลงทุนในพันธบัตรมีผลตอบแทนเพียง 3% ทำให้ กบข.ต้องหาแนวทางบริหารเงินกองทุนที่มีกว่า 5 แสนล้านบาท ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด โดยเฉพาะการขอเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น รวมถึงมองว่าถึงเวลาต้องแก้ไขกฎหมาย กบข.ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กบข.เห็นด้วยกับกรมบัญชีกลางที่จะตั้งกองทุนและจัดสรรเงินงบประมาณเข้ามา บริหารให้เกิดประโยชน์อย่างน้อย 1 แสนล้าน เพื่อเตรียมพร้อมใช้เงินจ่ายบำเหน็จบำนาญในอนาคต ที่คาดว่าปี 2578 จะใช้งบสูงถึง 7-8 แสนล้านบาท หากไม่เตรียมพร้อมอาจนำไปสู่ภาวะถังแตก และมีปัญหาเหมือนประเทศกรีซได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสูตรการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญแบบเก่า คำนวณจากฐานเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณระยะเวลาราชการ หารด้วย 50 ขณะที่สูตรใหม่ของ กบข. ใช้เฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยระยะเวลาราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของอัตราเฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย 

นายวิศร์ อัครสันตติกุล ประธานองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกระทรวงการคลังจะเสนอขอแก้ไขกฎหมาย กบข.เข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้าว่า ในนามตัวแทนสมาชิก กบข.ขอชื่นชมและสนับสนุนเต็มที่ เพราะสมาชิกได้เคลื่อนไหวเรียกร้องมานานแล้ว ที่สำคัญไม่เพียงแต่ให้ลาออกได้แล้วไปรับบำนาญสูตรเดิมปี 2494 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่สมาชิกเรียกร้องอีกคือ ให้แก้สูตรการคำนวณบำนาญตามมาตรา 63 ของ พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 จากในปัจจุบันที่ให้คำนวณเงินเดือนๆ สุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ควรแก้เป็นให้คำนวณเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 85% เฉลี่ย 24 เดือนสุดท้าย และให้สมาชิกลาออกได้ไปรับบำนาญตามสูตรเดิม 

“กรณีที่เสียชีวิต ให้ทายาทได้รับประโยชน์ที่เป็นธรรม และให้มีผลย้อนหลังไปถึงสมาชิกที่เกษียณไปแล้ว เพราะมีสมาชิกที่เกษียณไปแล้ว โทรศัพท์มาหาตลอดเวลาว่าได้รับความลำบากในการเป็นอยู่มาก เพราะได้รับบำนาญเพียงน้อยนิด ไม่พอกับหนี้สิน ประกอบกับเศรษฐกิจฝืดเคืองขึ้น จึงขอให้กระทรวงการคลังดูแลในส่วนนี้ด้วย” นายวิศร์กล่าว 

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะเดิมก่อนจะมี กบข.เมื่อเกษียณอายุราชการจะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญอย่างเดียว แต่ช่วงหนึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้ข้าราชการใส่เงินสมทบกองทุน กบข.ด้วย และบอกว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าบำเหน็จหรือบำนาญ เพราะนำเงินไปลงทุน แต่ช่วงที่ผ่านมาหลายคนมองว่า เงินที่นำไปลงทุนไม่เป็นไปตามที่ กบข.เคยบอก และเห็นว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น หากรัฐบาลให้ข้าราชการสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ถือเป็นเรื่องดี 

“ผมไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะให้เลือกใหม่ เพราะจะเกิดความยุ่งยาก และต้องใช้เงินเยอะมาก หากข้าราชการส่วนใหญ่เลือกไปรับบำเหน็จหรือบำนาญอย่างเดียว แต่มีทางแก้ไข โดยหากรัฐบาลเห็นว่าระบบของ กบข.มีปัญหาตรงไหน ก็แก้ตรงนั้น เช่น ทุกคนกลัวว่า เงินที่ถูกหักไปลงทุนไว้กับ กบข.จะขาดทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง เมื่อได้คืนจะไม่เท่ากับที่ลงทุนไป ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกันเงินขั้นต่ำไว้ เพื่อความสบายใจ” นายสมคิดกล่าว 

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำได้ถือเป็นเรื่องดีเพราะข้าราชการจะได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ แต่ประเด็นสำคัญคือ รัฐจะนำเงินมาจากไหน เพราะหากจะกลับไปเป็นแบบเดิม เท่ากับรัฐจะต้องใช้เงินมหาศาล และคนที่ขาดทุนจาก กบข.ไปแล้ว จะต้องชดเชยให้ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ คิดว่าผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดในเรื่องนี้คือข้าราชการครูที่มีอยู่จำนวนมาก 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สพฐ.คลอดปฏิทินรับนร.ปี56

 ที่มา  :  เดลินิวส์  วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2555 เวลา 17:37 น.

วันนี้ (15 ต.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ลงนามในประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปีการศึกษา 2556 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ประกันโอกาสเด็กที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้เข้ารับการศึกษาภาคบังคับครบทุกคน สนับสนุนให้โรงเรียนระดมทรัพยากรจากเด็กที่ได้เข้าเรียนแล้ว แต่ไม่ให้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขผูกพันกับการเข้าเรียน สำหรับวิธีการรับเด็ก ชั้นก่อนประถมศึกษา ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจัดหาที่เรียนให้เด็กตามความเหมาะสม รับเด็กอายุ 4-5 ปี ที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียน โดยไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการฯได้ กรณีมีผู้สมัครเกินจำนวนที่รับได้ ให้ใช้วิธีจับฉลาก ส่วนชั้น ป.1 ให้รับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 หรือจบการศึกษาชั้นก่อนประถมศึกษาที่อยู่ในเขตฯเข้าเรียนชั้น ป.1ทุกคน โดยไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มรับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการฯได้ สมัครเกินให้ใช้วิธีจับฉลากและประสานกับโรงเรียนใกล้เคียง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า การรับชั้น ม.1 คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) พิจารณาจัดหาโรงเรียนที่เหมาะสมให้นักเรียนทุกคนในเขตพื้นที่ฯ โดยคำนึงถึงหลักการเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนทั่วไปให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการฯ ถ้ารับไม่เต็มรับนอกเขตได้ กรณีสมัครเกินให้ใช้วิธีจับฉลาก ส่วนโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง มีผู้สมัครเกินกว่าที่โรงเรียนรับได้จำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการสอบคัดเลือกและใช้ผลคะแนนโอเน็ต จะต้องเสนอสัดส่วนและวิธีการต่อคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และให้กำหนดสัดส่วนรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการฯไม่น้อยกว่า 50 % โดยวิธีการจับฉลาก กรณีมีเด็กไม่ถึงให้รับในพื้นที่บริการเข้าเรียนทุกคน

“ กรณีที่คณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนฯ เห็นชอบให้สอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพื้นที่บริการฯให้เสนอร้อยละของการคัดเลือกและกำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจาก 1.คะแนนสอบที่ใช้ข้อสอบของโรงเรียน 80 % คะแนนโอเน็ต 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 20 % และรับนักเรียนทั่วไปไม่เกิน 50 % โดยใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน “ ดร.ชินภัทร กล่าวและว่า กรณีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ  คณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดหลักเกณฑ์พร้อมวิธีการ พร้อมประกาศหลักเกณฑ์ก่อนพิจารณาและผลหลังการพิจารณาให้สาธารณชนทราบ

สำหรับการรับนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนที่เปิดสอนทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย ให้รับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ที่มีศักยภาพเหมาะสมของโรงเรียนเข้าเรียน โดยคัดเลือกจากผลคะแนนการเรียนเฉลี่ย ม.1 ม.2 และ ม.3ภาคเรียนที่ 1 รวม 5 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 กรณีต่ำกว่า 2.00 แต่สูงกว่า 1.50 โรงเรียนและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอาจกำหนดเกณฑ์โดยจัดสอบประมวลความรู้ หากผ่านเกณฑ์ให้ถือว่าเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพเหมาะสม หรือประเมินความสามารถพิเศษเช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และให้รับรับเรียนจากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนด้วยแต่ต้องไม่เกิน 20% ของแผนการรับ และพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจากคะแนนสอบที่ใช้ข้อสอบของโรงเรียน  80 % และ คะแนนโอเน็ต 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 20 %

ส่วนโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะ ม.ปลาย ให้รับนักเรียนชั้น ม.4 จาก นักเรียนทั่วไป 80% โดยให้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจากคะแนนสอบที่ใช้ข้อสอบของโรงเรียน  80 % และ คะแนนโอเน็ต 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 20 % และนักเรียนโควตาไม่เกิน 20% หากประสงค์รับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษให้รวมอยู่ในร้อยละของการสอบคัดเลือก แต่ต้องไม่เกิน 5 % ทั้งนี้ ในการสมัครให้นักเรียนระบุชื่อโรงเรียนที่ประสงค์จะเข้าเรียนเป้นการสำรองไว้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรโอกาสทางการศึกษา

สำหรับปฏิทินการรับนักเรียน ดังนี้ ชั้นก่อนประถมฯ รับสมัคร วันที่ 31 ม.ค.-4 ก.พ.2556 จับฉลาก ประกาศผล และรายงานตัว10 ก.พ.มอบตัว 17 ก.พ. ชั้น ป.1 ประกาศชื่อโรงเรียนที่ สพป.และ สพม. จัดส่งเด็กเข้าเรียน วันที่ 1 ก.พ. รับสมัคร 7-11 ก.พ. จับฉลาก ประกาศผล และรายงานตัว17 ก.พ.มอบตัว 24 ก.พ. ชั้น ม.1 ประกาศผลการจัดสรรที่เรียน10 มี.ค. นักเรียนในเขตพื้นที่บริการฯและนักเรียนทั่วไป สอบคัดเลือกและใช้คะแนนโอเน็ต  สมัคร 14-18 มี.ค. สอบคัดเลือก 23 มี.ค. ประกาศผลและรายงานตัว 27 มี.ค. มอบตัว 6 เม.ย. นักเรียนในเขตพื้นที่บริการฯจับฉลาก สมัคร 14-18 มี.ค. จับฉลากประกาศผลและรายงานตัว 31 มี.ค. นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ(ถ้ามี) รับสมัคร14-15 มี.ค. คัดเลือก 16 มี.ค. ประกาศผลและรายงานตัว 18 มี.ค.มอบตัว 6 เม.ย. นักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษหรืออื่นๆ(ถ้ามี) สมัคร 14-18 มี.ค.ประกาศผลและรายงานตัว 27 มี.ค. มอบตัว 6 เม.ย.ทั้งนี้ นักเรียนที่มีความประสงค์ให้จัดหาที่เรียนให้ สมัคร 7-8 เม.ย.ประกาศผลและรายงานตัว 11 เม.ย. และจะประกาศการจัดหาที่เรียนให้นักเรียนในเขตพื้นที่ฯทุกคนอีกครั้งในวันที่ 16 พ.ค.

ชั้น ม.4 โรงเรียนที่เปิดสอนทั้งระดับม.ต้น และ ม,ปลาย นักเรียนที่จบชั้น ม.3ของโรงเรียนเดิมการรับสมัครและประกาศให้เป็นไปตามกำหนดการของโรงเรียน รายงานตัว 1 เม.ย.มอบตัว 7 เม.ย. นักเรียน ม.3 จากโรงเรียนอื่นและโรงเรียนเดิมที่ใช้การสอบคัดเลือกและใช้คะแนนโอเน็ต สมัคร 14-18 มี.ค. สอบคัดเลือก 24 มี.ค. ประกาศผล 28 มี.ค.รายงานตัว 1 เม.ย.มอบตัว 7 เม.ย. นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ(ถ้ามี) รับสมัคร14-15 มี.ค. คัดเลือก 16 มี.ค. ประกาศผลและรายงานตัว 18 มี.ค.มอบตัว 7 เม.ย. นักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษหรืออื่นๆ(ถ้ามี) สมัคร 14-18 มี.ค.ประกาศผลและรายงานตัว 28 มี.ค. มอบตัว 7 เม.ย. โรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะ ม.ปลาย นักเรียนที่สอบคัดเลือกและใช้คะแนนโอเน็ต สมัคร 14-18 มี.ค. สอบคัดเลือก 24 มี.ค. ประกาศผลและรายงานตัว 28 มี.ค. มอบตัว 7 เม.ย. นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ(ถ้ามี) รับสมัคร14-15 มี.ค. คัดเลือก 16 มี.ค. ประกาศผลและรายงานตัว 18 มี.ค.มอบตัว 7 เม.ย. นักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษหรืออื่นๆ(ถ้ามี) สมัคร 14-18 มี.ค.ประกาศผลและรายงานตัว 28 มี.ค. มอบตัว 7 เม.ย.2556.

ครูเฮ “เงินตกเบิกวิทยฐานะ”

 ครูเฮ “เงินตกเบิกวิทยฐานะ” ถึงมือ “สพฐ.” แล้ว เตรียมเบิกจ่าย สิ้นเดือนนี้รับเงินเดือนใหม่กันเลย

ที่มา  :   ศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. สำนักนโยบายและแผน สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ กทม.

ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. ได้กล่าวผ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ ฉบับที่ 7/2555 (08/10/2555) เกี่ยวกับเงินตกเบิกวิทยฐานะ ดังนี้ 

 เงินตกเบิกวิทยฐานะ

ขณะนี้งบประมาณสำหรับเบิกจ่ายตกเบิกวิทยฐานะมาถึง สพฐ.เรียบร้อยแล้ว ผมประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเงินตกเบิกวิทยฐานะของ สพร.(คุณเขมจิรา) ทราบว่า ขณะนี้ สพร.ให้ทุกเขตพื้นที่ยืนยันข้อมูลไปยัง สพฐ.ว่ามีครูและบุคลากรทางการศึกษาท่านใดบ้างที่จะได้รับเงินตกเบิกในครั้งนี้และจะได้รับเท่าไร โดยให้ยืนยันไปที่ สพฐ.ภายในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้น สพร.ก็จะแจ้ง สนผ.ที่ผมดูแลอยู่ว่าจะใช้เงินเงินเท่าไร(สนผ.เตรียมไว้พร้อมแล้วครับ) และขออนุมัติท่านเลขาธิการ เมื่อท่านเลขาธิการอนุมัติ ก็จะแจ้งเขตพื้นที่ให้ทำเรื่องเบิกเงินให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าว จากนั้นจะเร็วจะช้าก็อยู่ที่เขตพื้นที่แล้วละครับ เอ้า เริ่มตรวจสอบตั้งแต่ขั้นแรกเลย เขตแจ้งยืนยันไปยัง สพฐ.หรือยังเอ่ย และสิ้นตุลาคมนี้เงินเดือนและค่าตอบแทนวิทยฐานะก็จะปรับเป็นปัจจุบัน คือ รับอัตราใหม่กัน

สพฐ.เผยประเมินภายนอกรอบสอง

ที่มา  :  ไทยรัฐ  วันที่ 4  ตค. 2555

มีโรงเรียนเข้ารับการประเมิน 27,954 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 22,918 แห่ง คิดเป็น 81.98% และไม่ได้รับการรับรอง 5,036 แห่ง คิดเป็น 18.02%   ยอมรับต้องเร่งขยับคะแนนโอเน็ตให้สูงขึ้น รุกพัฒนาอ่านออกเขียนได้

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 2 ของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั้งระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยระดับปฐมวัย มีโรงเรียนเข้ารับการประเมิน 27,954 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 22,918 แห่ง คิดเป็น 81.98% และไม่ได้รับการรับรอง 5,036 แห่ง คิดเป็น 18.02% ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนเข้ารับการประเมิน 31,480 แห่ง ได้รับการรับรอง 25,944 แห่ง คิดเป็น 82.41% และไม่ได้รับการรับรอง 5,536 แห่ง คิดเป็น 17.59%

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ในการประเมิน พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอน และตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน โดยเฉพาะคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเร่งรัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ผู้วิเคราะห์มีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. เร่งรัดพัฒนาระบบการนิเทศให้มีความเข้มข้น และเข้มแข็งมากขึ้น ที่ประชุมจึงได้มอบให้ศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษา สพฐ.จัดกลไกให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีกลุ่มนิเทศการศึกษาลงไปตรวจเยี่ยม และให้คำแนะนำต่างๆ แก่ทางโรงเรียนมากขึ้น

ดร.ชินภัทร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ. จะร่วมมือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พัฒนาคลังข้อสอบ โดยขณะนี้ สพฐ.ได้พัฒนาคลังข้อสอบของ สพฐ.เองอยู่แล้ว เพื่อใช้ในการจัดสอบการทดสอบระดับชาติ หรือ NT ซึ่งจะทำคู่ขนานกันไป เพื่อรองรับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการที่ให้ใช้ผลคะแนนโอเน็ตของเด็กมีผลต่อการมีหรือเลื่อนวิทยฐานะของครู โดย สพฐ.จะคัดเลือกตัวชี้วัดที่สำคัญในการทดสอบเด็กแต่ละช่วงชั้นและแต่ละชั้นปี โดยจุดเน้นของระดับประถมศึกษาจะเน้นเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ และการคำนวณส่วนระดับมัธยมศึกษาจะเน้นใน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ.

หวั่นรวมอาเซียนต้องรับโรคเพิ่ม

ที่มา  :  เดลินิวส์  วันอังคารที่ 2 ตุลาคม 2555 เวลา 12:22 น.

วันนี้ ( 2 ต.ค.) ศ.กิตติคุณ นพ.ดำรง เหรียญประยูร นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย(สวท.) กล่าวว่า ตามที่ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ตนเห็นว่านอกจากคนไทยจะต้องพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมในด้านต่างๆแล้ว ประเด็นหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือ การเตรียมรับมือกับปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นจากการเคลื่อนย้ายแรงงานในระดับต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่ขาดความรู้ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาของโรคที่เกี่ยวกับเด็กและสตรี รวมถึงปัญหาเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม การตั้งครรภ์ไม่พร้อม  การแพร่กระจายของสิ่งเสพติด หรือแม้แต่โรคเท้าช้างที่อาจกลับมาระบาดได้อีก เป็นต้น

ศ.กิตติคุณ นพ.ดำรง กล่าวต่อไปว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะเตรียมรับมืออยู่แล้ว แต่ตนก็อยากให้คนไทยทุกคนตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะหากคนในชาติมีปัญหาสุขภาพไม่ดีจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม

ต่อข้อถามกรณีวัยรุ่นไทยมีอัตราการตั้งครรภ์สูงสุดในเอเชีย นายกสวท.กล่าวว่า เด็กไทยขาดการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิต หรือทักษะในการแก้ปัญหา จึงไม่ใช่มีแค่ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่ยังมีปัญหาสิ่งเสพติด ติดเกม ใช้ความรุนแรง ก่ออาชญากรรม ฯลฯ ทั้งนี้ตนเห็นว่าวิชาลูกเสือจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่เด็กได้อย่างดี

ดังนั้น 3 ปีที่ผ่านมาทางสวท.จึงได้เข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตรลูกเสือยุวกาชาดในสถานศึกษาที่เน้นการปฏิบัติต่อยอดจากทฤษฎี มีระบบยกย่องให้รางวัล เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและเห็นความสำคัญของตนเอง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และในอนาคตสวท.ยังจะชยายโครงการไปที่การอบรมครูเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนด้วย อย่างไรก็ตามหากทุกภาคส่วนช่วยกันเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกในทางสร้างสรรค์กันมากๆ ตนก็เชื่อว่าจะช่วยป้องกันปัญหาของเด็กและเยาวชนได้ทุกเรื่อง