ตะลึง!WEFจัดศึกษาไทยรั้งอาเซียนอันดับ8

คาถาเรียนเก่ง

a1

ที่มา  :  มติชนออนไลน์  วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 22:50:38 น.

หน้า 6 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2556

กศ_ไทย2013

กศ_ไทย2013_2

ผลการจัดอันดับของ “World Economic Forum-WEF” ในรายงาน “The Global Competitiveness Report 2013-2014” ต่อระบบการศึกษาไทย ชี้ว่าการศึกษาไทยนับตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ถึงมหาวิทยาลัย มีคุณภาพต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา ข้อมูลดังกล่าวดูเหมือนว่าจะตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงการศึกษา ทั้งนักวิชาการ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาการ

“หลายคนยากจะยอมรับผลการจัดอันดับดังกล่าว ถึงขั้นทึกทักไปว่าองค์กรนี้ขาดมาตรฐาน เชื่อไม่ได้ หากโดยความเป็นจริงแล้วก็ควรจำเป็นต้องสำเหนียกต่อประเด็นดังกล่าว โดยควรต้องกลับไปถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันควรตั้งคำถามต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ.ที่มีความเชื่อเป็นมั่นว่ามหาวิทยาลัยไทยมีมาตรฐานสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นรองก็แค่สิงคโปร์เท่านั้น ที่เหลือไม่ได้มาตรฐาน หรือเทียบเท่าการศึกษาไทย (ประเด็นหลังนี้ สกอ.ชี้วัด/จัดมาตรฐานด้วยการใช้อำนาจผ่านการเทียบคุณวุฒิการศึกษาและการให้การรับรองการเปิดหลักสูตร) โดยอ้างประกาศเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2548 ซึ่งไปๆ มาๆ ขัดแย้งสำนักงาน ก.พ. จนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดีระหว่างสองหน่วยงานนี้ เพราะเกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างประเทศของนักศึกษาทั้งคู่”

จากประเด็นดังกล่าว จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดไม่น้อยเมื่อพิจารณาถึงข้อมูลผลการจัดอันดับในแต่และปีของ WEF โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน มีดังนี้ 

“ปี 2012-2013” อันดับ 1 สิงคโปร์ (อันดับ 3 WEF) อันดับ 2 มาเลเซีย (อันดับ 19 WEF) อันดับ 3 บรูไน (อันดับ 32 WEF) อันดับ 4 อินโดนีเซีย (อันดับ 36 WEF) อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ (อันดับ 40 WEF) อันดับ 6 ลาว (อันดับ 57 WEF) อันดับ 7 กัมพูชา (อันดับ 76 WEF) อันดับ 8 ไทย (อันดับ 78 WEF) และอันดับ 9 เวียดนาม (อันดับ 96 WEF) 

“รายงานปี 2011-2012” อันดับ 1 สิงคโปร์ (อันดับ 2 WEF) อันดับ 2 มาเลเซีย (อันดับ 14 WEF) อันดับ 3 บรูไน (อันดับ 28 WEF) อันดับ 4 อินโดนีเซีย (อันดับ 44 WEF) อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ (อันดับ 61 WEF) อันดับ 6 กัมพูชา (อันดับ 68 WEF) เวียดนาม (อันดับ 69 WEF) อันดับ 8 ไทย (อันดับ 77 WEF) 

“รายงานปี 2010-2011” อันดับ 1 สิงคโปร์ (อันดับ 1 WEF) อันดับ 2 มาเลเซีย (อันดับ 23 WEF) อันดับ 3 บรูไน (อันดับ 31 WEF) อันดับ 4 อินโดนีเซีย (อันดับ 40 WEF) อันดับ 5 เวียดนาม (อันดับ 61 WEF) อันดับ 6 ไทย (อันดับ 66 WEF) อันดับ 7 ฟิลิปปินส์ (อันดับ 69 WEF) อันดับ 7 กัมพูชา (อันดับ 82 WEF) 

“ปัจจุบันระบบการสอนในมหาวิทยาลัยไทย ปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ด้วยระบบการประเมินผลแบบ KPI กระบวนการทำงานนับตั้งแต่การทำวิจัย การเรียนการสอน และโครงการกิจกรรมล้วนมุ่งเน้นเอกสารรายงานมากกว่าสิ่งอื่นใด อาจารย์ที่มุ่งเน้นการสอน ดูแลนักศึกษามาก ล้วนตกที่นั่งลำบาก ในทางตรงกันข้ามอาจารย์ที่ทำงานข้างนอกมหาวิทยาลัย รับเชิญสอน หรือหางบทำวิจัย งดการดูแลนักศึกษา อาจารย์ประเภทหลังนี้เมื่อประเมินตามเอกสารรายงาน ผลการทำงานอยู่ใน “ระดับดีมาก” ในขณะที่ประเภทแรกส่วนใหญ่ได้ “ระดับพอใช้” คณาจารย์จำนวนไม่น้อยจึงเริ่มทิ้งห้องสอน และห้องทำงาน ส่งผลให้นักศึกษาอยู่ในสถานะโดดเดี่ยวไร้การดูแลเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ”

นอกจากนี้ เพื่อพิจารณาข้อมูลการศึกษา ทั้งอัตราเงินเดือนอาจารย์ และค่าใช้จ่ายในการศึกษา (ค่าเทอม) ระหว่างมหาวิทยาลัยไทย และประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าค่าใช้จ่ายในการศึกษาในประเทศไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์ โดยเฉพาะหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เช่น ปริญญาเอกประเทศไทย ค่าเทอมตลอดหลักสูตรเฉลี่ยราว 500,000-650,000 บาท มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เฉลี่ย 200,000-250,000 บาท ในขณะที่เงินเดือนอาจารย์ผู้สอนในบรูไนสูงกว่าไทยราว 6 เท่า (ไม่รวมบ้านพักและรถยนต์) มาเลเซียสูงกว่าไทยราว 3 เท่า และฟิลิปปินส์ต่ำกว่าไทยเล็กน้อย 

บทสะท้อนสถานการณ์และพัฒนาการศึกษาไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และ สกอ.อาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใดๆ หากเชื่อมั่นว่าการศึกษาไทยมีมาตรฐานดีกว่า พร้อมๆ กับการปฏิเสธข้อมูลของ WEF ว่าไร้สาระเชื่อไม่ได้…

และก็ไม่แปลกที่กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง สกอ.เชื่อเช่นนี้ เพราะนับจากมติ ครม.ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบพร้อมๆ กับพัฒนาระบบพนักงานมหาวิทยาลัยแทนข้าราชการยังคงย่ำอยู่กับที่ และประสบปัญหามากมาย ระบบเงินเดือน และสวัสดิการของอาจารย์มหาวิทยาลัยในสถาบันต่างๆ จำนวนไม่น้อย ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยยักย้ายถ่ายเทงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงบประมาณ 1.7 เท่า เหลือเพียง 1.2, 1.30 หรือ 1.45 เท่านั้น 

“ทำให้ขาดความมั่นคงในชีวิต และศักดิ์ศรีในอาชีพอย่างรุนแรง ณ วันนี้”

edu0

ที่มา  :   แนวหน้า  วันจันทร์ ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2556

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวถึงกรณี ที่ World Economic Forum (WEF)  จัดอันดับให้การศึกษาไทย ตกลงไปอยู่ในระดับที่ 8 แพ้ ประเทศกัมพูชา และ เวียดนาม ว่า ตนขอรับข้อวิจารณ์ และเสนอข้อเสนอแนะของทุกเสียงเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้การศึกษาของเด็กไทยมีการพัฒนาและเกิดความสมบูรณ์มากที่สุด สำหรับกรณีที่ว่าให้เงินเดือนครูสูงแต่ครูไม่สามารถทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้นนั้น ตนคิดว่าการเพิ่มเงินเดือนให้ครู ยังเป็นความสำคัญ เนื่องจากเป็นการให้ขวัญกำลังใจของครู เราต้องทำให้ครูมีขวัญกำลังใจที่สุด เพราะหากครูมีขวัญกำลังใจที่ดีก็จะอุทิศเวลา อุทิศตนให้กับการเรียนการสอน หากจะมองถึงปัญหาที่การศึกษาไทยต้องตกต่ำเช่นนี้ น่าจะอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย อาทิ หลักสูตร เครื่องมืออุปกรณ์ในการเรียนการสอน ความพร้อมของเด็ก สถานที่เรียน สภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งก็คือความพร้อมของครู ซึ่งครูเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ 

รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐมนตรีทุกคนที่มาบริหารด้านการศึกษา ย่อมมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะหัวใจของการศึกษา อยู่ที่คุณภาพหรือมาตรฐานการศึกษา และที่มุ่งพัฒนาแก้ไขอยู่ คือการให้โอกาสทางการศึกษา และการบริหารจัดการที่เป็นธรรมาภิบาล ซึ่ง 3 เรื่องนี้คือหัวใจสำคัญที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไป 

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า  โดยส่วนตัวเข้าใจว่ารายงานผลการจัดอันดับของ WEF จะประเมินโดยวิเคราะห์ระบบการศึกษา ในฐานะของการผลิตกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า โดยมองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น จึงมีการเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนและผลที่ได้รับกลับมา ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีที่สูงแต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ จึงทำให้อันดับของไทยอยู่ต่ำกว่าประเทศที่ลงทุนต่อจีดีพีต่ำกว่า แต่ได้คุณภาพที่สูง 

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เข้าใจว่า WEF จะมอง 3 ส่วนหลัก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ

ประเด็นแรก  คือ  มองที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน  ซึ่งปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จ คือ คุณภาพและสมรรถนะของครู ในส่วนของประเทศไทยมีการลงทุนเกี่ยวกับบุคลากรที่สูงโดยเฉพาะเงินเดือนครู  แต่ไม่สัมพันธ์กับคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับกลับคืน  ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)อยู่แล้ว  และเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสำคัญ จึงมีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพและสมรรถนะของครู รวมทั้งปรับการประเมินครูให้เป็นการประเมินที่สัมพันธ์กับคุณภาพของผู้เรียนของเด็ก โดยประเมินจากผลการสอนจริง

ส่วนที่ 2  น่าจะดูจากทักษะของนักเรียน  โดยให้ความสำคัญกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย 3 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะทางด้านการคิด สมรรถนะทางด้านภาษา และสมรรถนะทางด้านไอซีที   อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สพฐ. พยายามที่จะเติมคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนอยู่

ส่วนที่ 3  น่าจะประเมินจากอัตรากำลังคนทางด้านอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่สำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผู้เรียนสายอาชีวะของไทย ยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และคุณลักษณะของผู้เรียนสายอาชีพก็ยังไม่ถึงระดับอินเตอร์เนชั่นแนล 

ต้องการบอกว่า !!!