เลข13หลักตรวจวุฒิปลอมโผล่ 2 มหา’ลัยเถื่อน

ที่มา  :   สยามรัฐ   Submitted by kanvadee on Tue, 16/07/2013 – 16:20

ตามที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จัดตั้งศูนย์ปราบปรามการปลอมวุฒิ เพื่อจัดการกับแก๊งมิจฉาชีพที่หลอกขายวุฒิบัตรปลอม

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.56 นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะประธานศูนย์ปราบปรามการปลอมวุฒิ กล่าวว่า  เนื่องจากขณะนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างว่า สามารถจัดหาวุฒิการศึกษาทุกระดับการศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้งจาก สกอ.อย่างถูกต้อง และเปิดรับนักศึกษาอย่างผิดกฎหมาย นั้นขณะนี้ สกอ.จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว หากใครมีข้อมูลหรือเบาะแสกรณีดังกล่าวของกลุ่มมิจฉาชีพ สามารถแจ้งได้ที่ โทร.0-2610-5451 หรือ 0-2610-9200 ต่อ 5451

     ด้านนายกำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า กำลังหารือทุกฝ่ายว่าจะมีมาตรการใดออกมาบ้าง โดยนำกรณีศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์ และม.สุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเคยเป็นผู้เสียหายถูกเว็บไซต์บางแห่งอ้างชื่อ และเผยแพร่ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และสามารถติดตามหาผู้ทำผิดมาลงโทษได้ อย่างไรก็ตาม สกอ.ได้ทำหน้าที่เหมือนศูนย์รับร้องเรียนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว และหลังจากที่นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ออกมาเตือนเรื่องการโฆษณาปลอมวุฒิผ่านเว็บไซต์ ก็ทำให้มีผู้ให้ข้อมูลกับตนเพิ่มเติม เป็นมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ที่ไม่ได้รับขออนุญาตดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ลักษณะเดียวกันกับ ม.อดัมสัน ประเทศฟิลิปปินส์ และ ม.โรชวิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง      

     “ปัญหาการจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพพวกนี้จะไหวตัวทัน จับได้แต่ผู้ซื้อวุฒิปลอมในข้อหาใช้เอกสารเท็จ หรือจับได้แต่พวกปลาซิวปลาสร้อยไม่สามารถจับต้นตอได้ ส่วนกรณีการโพสต์ผ่านเว็บไซด์รับทำวุฒิปลอมนั้น ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่มีตัวบุคคลที่จะกล่าวหา หากจะดำเนินคดีต้องอาศัย พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาดำเนินการ

     ซึ่งทางออกของเรื่องนี้อาจทำได้โดยอาศัยร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.(…) ซึ่งให้อำนาจ สกอ.ขอข้อมูลนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาเก็บไว้ โดยจะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านรับรองแล้ว พร้อมตัวเลขบัตรประชาชน 13 หลัก มีรายละเอียดการเรียนของแต่ละบุคคลทั้งเกรดรายวิชา เกรดเฉลี่ย หากบุคคลใดถูกรีไทร์ หรือออกกลางคันก็จะระบุว่าออกไปปีไหน ซึ่งฐานข้อมูลที่เก็บไว้ที่ สกอ.และมหาวิทยาลัยจะต้องตรงกัน เมื่อมีการร้องขอให้ตรวจสอบก็จะต้องตรวจสอบทั้งสองทาง คือที่ สกอ.และมหาวิทยาลัย หากตรงกันก็เชื่อถือได้ แต่หากข้อมูลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ตรงก็ให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า เกิดปัญหาขึ้นจะได้เข้าไปตรวจสอบต่อไป”รองเลขาธิการ กกอ.กล่าว

 

ปริญญามีขายที่นี่หรือ? มหาวิทยาลัยห้องแถว

 ที่มา  :  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  updated: 12 ก.ค. 2556 เวลา 11:56:19 น.

เป็น ประเด็นขึ้นมาทันทีหลังจากที่มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลของ “มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก” ที่มีการให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์กับบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่มีการจัดการเรียนการสอน ที่สำคัญมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรับปริญญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ถือ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยถึงคุณภาพของปริญญาบัตรที่หลายคน ได้มาและทำให้นึกไปได้ว่า มหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก จะมีอีกสักกี่แห่ง……

ล่าสุดมีการออกมาเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย ที่เข้าข่ายดังกล่าวมาอีก 2 แห่ง คือ “มหาวิทยาลัยอดัมสัน” จากประเทศฟิลิปปินส์ และ “มหาวิทยาลัยโรชวิลล์” ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาเปิดศูนย์ประสานงานในประเทศไทย โดยอ้างว่ามีการลงนามความร่วมมือกับประเทศต้นสังกัดอย่างถูกต้อง ขณะที่ศูนย์ดังกล่าวก็ไม่แน่ชัดว่ามีการจัดการเรียนการสอนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ทั้งหมดเปิดมาโดยไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยการันตีคุณภาพการจัดการศึกษาของอุดมศึกษาทุกแห่งใน ประเทศไทย

เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ เปิดสอนแบบผิดกฎหมาย หรือเรียกง่ายๆ ว่า “มหาวิทยาลัยเถื่อน” นั่นเอง!!!

จะ ว่าไป เรื่องนี้ก็ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะในอดีต ปัญหา “ซื้อ-ขาย” ปริญญา แบบเปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ โดยโฆษณาชวนเชื่อว่า “จ่ายครบ จบแน่” สร้างรายได้มหาศาลให้กับพวกเหลือบไรในวงการศึกษามาแล้ว โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ จะอ้างว่ามีแม่ข่ายอยู่ต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ซึ่งเข้ามาเปิดสอนโดยไม่ได้ขออนุญาตจาก สกอ. และที่ผ่านมา คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ก็มีมติว่าหากพบว่ามหาวิทยาลัยใดที่ดำเนินการจัดการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ให้สั่งดำเนินการตามกฎหมาย และยุติการจัดการเรียนการสอนทันที ซึ่งมหาวิทยาลัยอดัมสันเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ สกอ.เคยสั่งยุติการเรียนการสอนมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน และคืนชีพมาแจกปริญญาอีกครั้งในขณะนี้

ที่น่าตกใจ มหาวิทยาลัยเหล่านี้เน้นเปิดสอนเฉพาะปริญญาโทและปริญญาเอก ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือบุคคลที่สนใจเรียนในมหาวิทยาลัยเถื่อนเหล่านี้มากที่สุด กลับเป็น “ข้าราชการ” โดยเฉพาะกลุ่ม “ผู้อำนวยการ” และ “รองผู้อำนวยการ” สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ที่ต้องการได้ปริญญาไว้สำหรับ “อัพ” ดีกรี เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง

คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไปให้คุณค่ากับปริญญาบัตรที่ผิดกฎหมาย จนดูเป็นความคลั่งใบปริญญามากกว่าการกระหายความรู้

สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวว่า ค่านิยมเรื่องใบปริญญากับสังคมไทยมีมานาน จนกลายเป็นความคลั่งใบปริญญา เพราะทำให้สถานะทางสังคมเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกวันนี้คนไทยไม่ได้คลั่งแค่ปริญญาตรีเช่นแต่ก่อน แต่เป็นระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษา เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษามากขึ้น ทั้งในรูปแบบที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย ขณะที่คนจบปริญญาโทและปริญญาเอกเพิ่มขึ้น กลับสวนทางกับคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลง

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มี มหาวิทยาลัยเถื่อนผุดขึ้นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทบาทในการกำกับดูแลของ สกอ. จะไปเน้นที่มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนมากเกินไป ทำให้พวกมหาวิทยาลัยเถื่อนทำการรุกตลาดได้แบบเงียบๆ โดยเลือกเจาะกลุ่มเฉพาะที่ต้องการนำใบปริญญาไปใช้ประโยชน์ เท่ากับว่าขณะนี้ สกอ.กำลังตามหลังคนกลุ่มนี้อยู่ ในทางกลับกันอยากให้ สกอ.มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ในแง่ดี ที่จะต้องหยุดกระบวนการเหล่านี้ และถือโอกาสให้ความรู้กับประชาชนที่ยังไม่รู้ว่า การได้ปริญญาที่ไม่ถูกกฎหมายมันไม่มีประโยชน์ และการได้ดีกรีปริญญาเอกแบบ “กลวง” ก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ได้เกิดจากการศึกษาหาความรู้ที่แท้จริง

และ ที่น่าวิตกก็คือกลุ่มลูกค้าใบปริญญาห้องแถว เป็นครูบาอาจารย์ในสถานศึกษา เพื่ออาศัยเบิกทางสู่ความก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งที่ไม่มีองค์ความรู้หนุนหลังแล้ว

อนาคตระบบการศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไร


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

ต้องการบอกว่า !!!