Archive | 25/12/2012

“พงศ์เทพ”ดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

ที่มา :  เดลินิวส์  วันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555 เวลา 16:05 น

วันนี้ ( 25 ธ.ค.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลหรือการนอกระบบ ว่า ตนพร้อมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐของทุกมหาวิทยาลัยที่เสนอเรื่องเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ส่วนของกรณีที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ เท่าที่ทราบเรื่องร่างดังกล่าวยังอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยและทางมหาวิทยาลัยกำลังทำความเข้าใจกับนักศึกษาอยู่  

ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค้านการออกนอกระบบทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น ตนเข้าใจดีว่านักศึกษาหรือกลุ่มผู้เห็นค้านก็ต้องมี ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นห่วงมากที่สุดคือเกรงว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วต้องแบกรับภาระมากขึ้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ทำให้คุณภาพดีขึ้นด้วย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงให้ประชาคมเข้าใจ  

ต่อข้อถามที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(ทปอ.มรภ.)มีข้อเสนอจะขอกลับมาเป็นข้าราชการ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เรื่องที่ไม่ให้มีการบรรจุข้าราชการนั้นเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้ว และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ดังนั้นถ้าจะให้กลับไปเป็นข้าราชการเหมือนเดิมคงเป็นเรื่องที่ยาก

ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ในวันที่  16 ม.ค.2556 ที่มธ.ศูนย์รังสิต  ตนได้นัดประชุมทำความเข้าใจกับนักศึกษา  ประชาคม และผู้สนใจ  ส่วนข้อห่วงใยของนักศึกษาที่ว่าออกนอกระบบแล้วค่าหน่วยกิตจะเพิ่มขึ้นนั้น  เบื้องต้นตนขอชี้แจงว่า การออกนอกระบบกับการขึ้นค่าหน่วยกิตเป็นคนละเรื่องกัน และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มธ.ได้ขึ้นค่าหน่วยกิตไปแล้ว  ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งออกนอกระบบไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็ยังไม่ได้ขึ้นค่าหน่วยกิตใดๆเลย

สถานที่จัดสวดมนต์ข้ามปี 2556

ที่มา  :  Kapook.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ybat.org , dhammasiri.or.th

รวมวัด – สถานที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556
  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เตรียมจัดกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” เป็นครั้งที่ 3 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันสร้างมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เปิดเผยว่า ในปี 2555 นี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของคนไทยทุกคน ที่จะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองปีพุทธชยันตี และที่สำคัญ คือ จะได้สวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 85 พรรษา โดยภายในงานดังกล่าวจะมีการสวดมนต์หลายบทด้วยกัน อาทิ บทสวดมนต์อิติปิโส บทโพชฌังคะปริตร และบทพระคาถาถวายพระพรชัยมงคล ภูมิพลมหาราชวรัสสะ ชัยมงคลคาถา ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ เพื่อขอถวายพระพรชัย ขอพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยสมบูรณ์ทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากภัยพิบัติ และขอพระองค์ทรงสถิตสถาพรอยู่ในมไหศวรรยาธิปัตย์เป็นศูนย์รวมใจของพสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า

          ดังนั้น สสส. ขอเชิญประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ มาร่วมกันสร้างมหากุศลถวายแด่พ่อหลวง และเพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ 2556 ด้วยการตั้งจิตอธิษฐานให้เกิดความ เป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง ความสุขสวัสดี แก่ประเทศชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และปวงชนชาวไทย โดยให้กิจกรรมนี้เป็นทางเลือกที่ดีในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แทนการสังสรรค์ เคาท์ดาวน์ ดื่มเหล้า เหมือนที่นิยมทำกันมา และให้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญในการสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย

          ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่หวังจะทำสิ่งดี ๆ เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า และเริ่มก้าวเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความเป็นมงคลของชีวิต สามารถเดินทางไปร่วมกิจกรรมได้ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานครสนามหลวง และจังหวัดตัวแทนภาคทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น,ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ  แต่หากไม่สะดวกเดินทางก็สามารถสวดมนต์ที่บ้านได้เช่นกัน สำหรับกิจกรรมเด่นที่น่าสนใจทั้ง 4 ภาค อาทิ

สวดมนต์ข้ามปี ชีวิตดี ที่วัดหลวงพ่อพุทธโสธร

          เริ่มต้นที่ ภาคกลาง จ.ฉะเชิงเทรา ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่ทุกคนรู้จักดี คือ วัดโสธร ซึ่งมีหลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจ.ฉะเชิงเทรา โดยทุก ๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวหลายพันคนเดินทางมาเที่ยวและสักการะหลวงพ่อพุทธโสธร เป็นการเสริมสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ดังนั้น จึงมีการจัดงานสวดมนต์ข้ามปี โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นประชาชนงดเหล้า เยาวชนไม่มั่วสุมสุราเพื่อลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวได้สร้างกุศลอันดีงามอีกด้วย

ขอนแก่น ทำสถิติสวดมนต์ที่ยาวนานที่สุด

          สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนบน และภาคีต่าง ๆ เชิญชวนร่วมงาน “COUNT DOWN MONG-KOL” ร่วมสวดมนต์ข้ามปี สร้างชีวีให้เกิดมงคลแด่ครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ซึ่งได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม เลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิกาฬสินธุ์ และบึงกาฬ ได้มีการจัดงาน สวดมนต์ปีใหม่ ชีวิตใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ มาอย่างต่อเนื่องตลอดมาเพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีงามเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตของตนเองครอบครัว คนรอบข้าง และประเทศไทย

          สำหรับปีนี้จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่ วัดหนองแวงพระอารามหลวง จ.ขอนแก่น เนื่องด้วยปีนี้เป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบการตรัสรู้ 2,600 ปี ของพระพุทธเจ้า โดยจะมีการสร้างนวัตกรรมการสวดมนต์ที่ยาวนานที่สุด เพื่อการบันทึกสถิติ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแบบอย่าง และยังมีกิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน กิจกรรมนิทรรศการรณรงค์การสร้างครอบครัวให้อบอุ่น โดยมีเกมต่าง ๆ ที่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี

ม่วนอกม่วนใจ๋…ส่งท้ายปีเก่าด้วยวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่ด้วยวิถีพุทธ

          ทางภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ก็จัดงานยิ่งใหญ่เช่นกัน โดยในปีนี้เครือข่ายประชาสังคมสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการรณรงค์งดเหล้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดทำโครงการ “ส่งท้ายปีเก่าด้วยวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่ด้วยวิถีพุทธ” เพื่อชี้นำสังคมไปในทางที่ดี และเป็นทางเลือกแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ที่จะเลือกฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการบำเพ็ญกุศลในรูปแบบต่าง ๆ ทางศาสนา เริ่มงานตั้งแต่ ภาคค่ำ-คืน วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

          สำหรับกิจกรรมเด่น ๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร อ.เมือง เชียงใหม่ มีกิจกรรม และพิธีกรรม คือ ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ภาวนาข้ามปีรอบองค์พระเจดีย์หลวง ทำบุญถวายสังฆทานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง เชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ สมาทานศีล ฟังเทศน์ การแสดงศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ “พุทธชยันตี” สวดมนต์ ทำสมาธิเคาว์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่การกวนข้าวมธุปายาส

          นอกจากนั้น ยังมีการจัดงาน ณ ล้านสามกษัตริย์ จัดกิจกรรมและพิธีกรรม นานาศาสนา ความหลากหลาย บนเส้นทางเดียวกัน ณ ลาน 3 กษัตริย์ การจัดกิจกรรม ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอสารภี ศรัทธาประชาชนร่วมกันประพิธีกรรมและจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วัดดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นอกจากจะมีการสวดมนต์ข้ามปี เข้าวันที่ 1 มกราคม 2556 เวลา 06.30 น. พระสงฆ์-สามเณรกว่า 50 รูป จะเดินลงจากบันไดนาครับบิณฑบาตจากประชาชนมากกว่า 2,000 คน

เดิน-วิ่งข้ามปี ร่วมผลักดันพระธาตุสู่มรดกโลก 

          ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช จะมีการจัดกิจกรรม “เดิน-วิ่งข้ามปี บูชาพระธาตุ” และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ของจ.นครศรีธรรมราช ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสามารถดึงดูดให้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ จ.นครศรีธรรมราชซึ่งกำลังโปรโมทกิจกรรมการท่องเที่ยว “นครศรีฯ ดี๊ ดี” ตลอดถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อร่วมผลักดันพระบรมธาตุสู่มรดกโลก จึงมีกำหนดการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ข้ามปี บูชาพระธาตุ และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี อย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี

           ทั้งนี้ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเป็นอีกกิจกรรมที่สามารถทำกันได้ทั้งครอบครัว และถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ผู้คนยุคนี้ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อกันว่า การสวดมนต์ข้ามปี จะช่วยนำพาความเป็นศิริมงคลมาให้ หรือเป็นเสมือนการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ ผ่องใส ทั้งกาย และใจ ซึ่งวัดหลายแห่งทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ส่วนจะมีที่ไหนบ้าง ทีมงานกระปุกดอทคอม ได้รวบรวมข้อมูล รายชื่อวัดที่จะมีการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556 มาฝากเพิ่มเติมค่ะ

รวมวัด – สถานที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556

           สถานที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2555-2556 แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

          1. ส่วนกลาง จัดที่ สนามหลวง จ.กรุงเทพฯ

                กำหนดการสวดมนต์ข้ามปี ครั้งที่ 3/2555– 2556 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร*

                วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2555

                    เวลา 16.00 น.

                         – เริ่มกิจกรรมรอบ ๆ บริเวณการจัดงาน / พิธีกรประชาสัมพันธ์การจัดงาน

                         – การสวดมนต์หมู่ฯ ทำนองสรภัญญะ ระดับประถม / มัธยม

                  เวลา 17.00 น.

                        – การบรรยายธรรม “คิดดี ทำดี เริ่มต้นสวดมนต์รับปีใหม่” โดย พระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน) วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

                  เวลา 18.00 น. 

                        – เข้าสู่พิธีการมหามงคลช่วงที่ 1 ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กระทรวง ทบวง กรม ทหารตำรวจ ประมุขสงฆ์ แขกผู้มีเกียรติเดินทางมาถึงในพิธี

                   เวลา 18.45 น.

                         – ประธานในพิธีฝ่ายบรรพชิต พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม และคณะสงฆ์ เข้านั่งประจำที่ เพื่อเตรียมประกอบศาสนพิธี

                    เวลา 19.00 น.

                           – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานในพิธีฝ่ายคฤหัสถ์ ในการจุดธูปเทียนบูชาเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย เปิดกรวย ถวายสักการะ ที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                           – ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2555-2556 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2555-2556

                           – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสวดมนต์ข้ามปี 2555-2556

                            – การแสดงพิธีเปิดงานชุด พุทธบูชา แด่โลกาแห่งสัมพุทธชยันตี (คณะดีดี๊ดี เวลา 10 นาที)

                            – น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี จุดเทียนมหามงคล

                           – เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
                           – ขณะพระสงฆ์สวดถึงบทมงคลสูตร (อเสวนา) เจ้าหน้าที่เชิญเทียนชนวนมอบนายกรัฐมนตรี จุดเทียนนํ้าพระพุทธมนต์ และเจ้าหน้าที่ประเคนหม้อนํ้าพระพุทธมนต์แด่ประธานสงฆ์ จากนั้นจึงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แด่ประธานสงฆ์
                           – นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการจัดงาน กรวดนํ้า รับพร และถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสมงคลขึ้นปีใหม่

                     เวลา 20.00 น.

                            – การแสดงชุด “พุทธะ ราชะ เดอะมิวสิคคัล” องค์ที่ 1 พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

                            – การแสดงธรรมเทศนาและนำสวดมนต์ช่วงที่ 1 โดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

                      เวลา 20.40 น. 

                            – การแสดงชุด “พุทธะ ราชะ เดอะมิวสิคคัล” องค์ที่ 2 ธรรมดาของโลก

                            – การแสดงธรรมเทศนา โดย พระ ว.วชิรเมธี (VTR)

                       เวลา 21.20 น.

                             – การแสดงชุด “พุทธะ ราชะ เดอะมิวสิคคัล” องค์ที่ 3 บำเพ็ญทุกรกิริยา

                             – นำสวดมนต์ช่วงที่ 3 โดยคณะสงฆ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                       เวลา 22.30 น. 

                              – พิธีการมหามงคลช่วงที่ 2 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีฝ่ายคฤหัสถ์ จุดธูปเทียนบูชาเครื่องนมัสการ และเปิดกรวย ถวายสักการะ ที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                              – ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2555-2556 สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม) กล่าวรายงานการ ดำเนินงานในการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี

                              – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนการจัดกิจกรรม สวดมนต์ข้ามปีของกรุงเทพมหานคร

                              – พิธีกรกล่าวนำเข้ากิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี

                       เวลา 22.50 น.

                             – การแสดงชุด “พุทธะ ราชะ เดอะมิวสิคคัล” องก์ที่ 4 (องค์สุดท้าย) ผจญมาร

                       เวลา 23.20 น.

                             – ประธานในพิธีฝ่ายบรรพชิต พระธรรมโกษาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม แสดงธรรมเทศนา จากนั้นประธานในพิธีฝ่ายบรรพชิตและคณะสงฆ์นำประชาชนเจริญพระพุทธมนต์ และสวดมนต์ข้ามปี

                             – สวดบทอิติปิโส จนครบ 85 จบ

           วันอังคารที่ 1 มกราคม 2556

           เวลา 01.00 น.

                – พระสงฆ์ทั้งปวงเจริญชยันโตชยมงคลคาถา 9 รอบ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ประเทศชาติศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนชาวไทย

                – พระสงฆ์ประพรมนํ้าพระพุทธมนต์แก่ประชาชนเพื่อเป็นสิริมงคล

                – พระเถระองค์ประธานสงฆ์ ประกอบพิธีดับเทียนมหามงคล

                – พระสงฆ์จตุรวรรคสวดคาถาดับเทียนมหามงคล เพื่อความปลอดพ้นจากทุกข์โศก โรคภัยวิกฤตของบ้านเมือง และเพื่อความเป็นสิริมหามงคลแก่ประเทศชาติบ้านเมือง
          
           เวลา 01.30 น.

               – มหรสพบันเทิงฉลองปีใหม่ จนเข้าสู่เช้าวันที่ 1 มกราคม 2556

           เวลา 06.00 น.

                – พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่

* หมายเหตุ หมายกำหนดการนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

           วิธีการเดินทางไปร่วมงานที่สนามหลวง

          รถโดยสารประจำทาง  :  2  3  25  59  60  80  85  203

  จุดจอดรถเมล์ ขสมก. สำหรับผู้เดินทางกลับในถนนบริเวณใกล้สนามหลวง ตั้งแต่เวลา 00.00-02.00 น.

                – ถนนราชดำเนินกลาง สาย 59 อนุสาวรีย์ชัย

                – ถนนมหาราช ข้างวัดพระเชตุพนฯ สาย 82 วงเวียนใหญ่

                – ถนนสนามไชย ข้างวัดพระเชตุพนฯ สาย 25 หัวลำโพง

                – ถนนพระปิ่นเกล้า เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า สาย 80 สายใต้ใหม่

           เรือข้ามฟาก เปิดให้บริการประชาชนถึงเวลา 02.00 น.

                – ท่าเรือที่ใกล้สนามหลวง ได้แก่ ท่าเตียน ท่าช้าง ท่ามหาราช ท่าวัดมหาธาตุ


           รถไฟฟ้า BTS และ รถไฟใต้ดิน MRT เปิดให้บริการประชาชน ถึงเวลา 02.00 น.

               – ให้บริการรถรับ-ส่งประชาชน ที่สถานีปลายทางของรถไฟฟ้า BTS และ รถไฟใต้ดิน MRT ไปยังสนามหลวง

                – บริการที่จอดรถ 2,000 คัน สำหรับผู้ที่เดินทางมาสวดมนต์ข้ามปีที่ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต,สนามกีฬาศุภชลาสัย และรถไฟใต้ดิน MRT สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

           รายชื่อวัดในกรุงเทพที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ

                วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

                วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

                วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

                วัดอมรินทรารามวรวิหาร

                วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

                วัดโสมนัสราชวรวิหาร

                วัดมหรรณพารามวรวิหาร

                วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

                วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

                วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร

2. ส่วนภูมิภาค จัดที่จังหวัดตัวแทน 4 ภาค ประกอบด้วย

          ภาคเหนือ

             ตัวแทนจังหวัดที่จัดกิจกรรมใหญ่ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ อาทิ

                วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

                วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

                วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

                วัดโพธารามมหาวิหาร

                วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

             สำหรับวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556 เช่น

                วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงราย

                วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่

                วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่

                วัดพระธาตุช้างค้ำ จ.น่าน

                วัดบุญเกิด จ.พะเยา

                วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ จ.ลำปาง

                วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน

                วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์

                วัดดอยสวรรค์ (เขาไก่เขี่ย) จ.อุตรดิตถ์

                วัดสุวรรณคีรีวิหาร จ.เพชรบูรณ์

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

             ตัวแทนจังหวัดที่จัดกิจกรรมใหญ่ ได้แก่ จ.ขอนแก่น อาทิ

                วัดศรีจันทร์

                วัดโพธิ์ชัย

                วัดฝางศรีงามราษฎร์

                วัดเกาะแก้ววราราม

                วัดสว่างอารมณ์


            สำหรับวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556เช่น

                วัดพระนารายณ์มหาราชวรมหาวิหาร จ.นครราชสีมา

                วัดวชิราลงกรณ์วราราม จ.นครราชสีมา

                วัดคำเจริญวราราม จ.อุบลราชธานี

                วัดหลวงสุมังคลาราม จ.ศรีสะเกษ

                วัดสันติวนาราม จ.อุดรธานี

                วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม

                วัดโมกขวนาราม จ.ขอนแก่น

                วัดอินทรังสฤษฏิ์ จ.สกลนคร

                วัดแจ้งแสงอรุณ จ.สกลนคร

                วัดศรีบุญเรือง จ.มุกดาหาร

          ภาคกลาง

            ตัวแทนจังหวัดที่จัดกิจกรรมใหญ่ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา อาทิ

                วัดโสธรวรารามวรวิหาร

                วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง)

                วัดอภัยภาติการาม

                วัดสัมปทวนนอก

                วัดโพธิ์บางคล้า


            สำหรับวัดอื่น ๆ ในภาคกลางที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556 เช่น

                วัดราษฎร์บูรณะ จ.กรุงเทพ

                วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม

                วัดไทรน้อย จ.นนทบุรี

                วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี

                วัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา

                วัดป่าธรรมโสภณ จ.ลพบุรี

                วัดพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

                วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี

                วัดไทยชุมพล จ.สุโขทัย

                วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี

          ภาคใต้

            ตัวแทนจังหวัดที่จัดกิจกรรมใหญ่ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช อาทิ

                วัดมะนาวหวาน

                วัดท่าโพธิ์

                วัดธาตุน้อย

                วัดสุทธจินดา

                วัดปอแดง

            สำหรับวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556 เช่น

                วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่

                วัดชุมพรรังสรรค์ จ.ชุมพร

               วัดป่าวังเจริญ จ.ตรัง

               วัดหมื่นระงับรังสรรค์ จ.นครศรีธรรมราช

               วัดมาตุคุณาราม จ.พังงา

               วัดอุดมวราราม จ.พัทลุง

               วัดสุนทราวาส จ.พัทลุง

               วัดคงคาสวัสดิ์ จ.สงขลา

               วัดมงคลมิ่งเมือง จ.สตูล

               วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จ.สุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ การสวดมนต์ข้ามปีเป็นการทำดีแบบง่าย ๆ แถมยังส่งผลให้จิตใจผ่องใส สติปัญญาฉับไวอีกด้วย หากใครที่ยังไม่เคยไปสวดมนต์ข้ามปี และยังไม่รู้ว่าในช่วงสิ้นปีนี้จะทำกิจกรรมอะไรดีนั้น ลองถือโอกาสนี้เปลี่ยนพฤติกรรม ไปเข้าวัดเข้าวากันดูบ้างนะคะ แล้วจะพบว่าการสวดมนต์ข้ามปีให้อะไรดี ๆ มากกว่าที่คิดจ้า

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556 และอยากเช็ครายชื่อวัดใกล้บ้านที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

สพฐ.ซักซ้อม”สมัครครูผู้ช่วย”จำเป็น/เหตุพิเศษ

ดาวน์โหลดแบบ PDF  :  http://202.143.174.11/personnel/news2011/upfiles/616.pdf

ซักซ้อม การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ

จม.เปิดผนึกที่ 10/55 (25ธค.55)

ที่มา  :  เว็บไซต์สำนักนโยบายและแผน สพฐ.

ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 10/2555 (25/12/2555) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ งบประมาณปี 2555 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี , แนวทางการจัดสรรเงินรายหัวให้กับนักเรียนในอนาคต และการยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบล

 จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 10/2555


ถึง พี่น้องชาวแผนและผู้ที่สนใจทุกท่านครับ

ทำงานเพลินๆ เผลอไม่นาน ก็จะหมดปีเสียแล้ว ก็เป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าผมยังสนุกกับงาน และชีวิต คนที่ไม่สนุกกับงานและชีวิตก็จะตั้งหน้าตั้งตารอว่าเมื่อไรจะหมดวันเสียที เมื่อไปจะถึงวันนั้นวันนี้ ในรอบเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนที่ผมรับผิดชอบอยู่สามเรื่อง ซึ่งไม่นับรวมเรื่องเก่าคือ ค่าตอบแทน 15,000 บาทสำหรับอัตราชั่วคราว ซึ่งรอเข้ารับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอยู่ และเรื่องเงินตกเบิกวิทยฐานะ ซึ่งมี 6 ทางเลือก ผู้บริหารระดับนโยบายเลือกทางเลือกที่ 3 โดยใช้งบประมาณ 1,846 ล้านบาท ถ้าไม่ทราบว่าทางเลือกที่ 3 เป็นอย่างไร ลองเปิดจดหมายฉบับที่ 9/2555 ดูสิครับ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเสนอของบกลางจากคณะรัฐมนตรีอยู่ คุณครูหลายท่านพยายามถามผมว่าแล้วเมื่อไรรัฐมนตรีถึงจะพิจารณา ประเด็นนี้เหนือการควบคุมของเราครับ แต่ผมเชื่อว่าคงเร็วๆนี้ จดหมายฉบับนี้ผมขอคุยสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง งบประมาณ ปี 2555 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เรื่องที่สอง แนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนในอนาคต และเรื่องสุดท้าย การยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบล เริ่มเลยดีกว่าครับ

►งบประมาณปี 2555 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี

หากพี่น้องชาวแผนจำได้ก็จะทราบว่า ช่วงปลายๆเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ทำเรื่องกันเงินงบประมาณที่ สพฐ./สพท./โรงเรียนใช้ไม่ทันถึง 3,644 ล้าน เป็นงบประมาณ ปี 2554 จำนวน 144 ล้าน งบประมาณ ปี 2555 จำนวน 3,500 ล้านไปยังกรมบัญชีกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายการ ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การศึกษาบางรายการ เช่น รถยนต์ตู้โดยสารของเขตพื้นที่และโรงเรียน เครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ รวมถึงรายการโต๊ะเก้าอี้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งตามกำหนดการเดิม รายการต่างๆเหล่านี้ต้องก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2555 ขณะนี้มีข่าวดีที่จะบอกครับว่า กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้ใช้งบประมาณดังกล่าวได้แล้ว และทราบเป็นการภายในว่าจะขยายเวลาให้ก่อหนี้ผูกพันได้จนถึง 31 มีนาคม 2556 ค่อยหายใจคล่องขึ้นมาหน่อยเพราะมีเวลาอีก 3 เดือนจากนี้ ขณะนี้สำนักคลังและสินทรัพย์ สพฐ.กำลังแจ้งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ เมื่อทราบแล้วก็เร่งดำเนินการนะครับ เพราะรัฐบาลต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินทองจะได้ไหลเวียนและคงไม่ขยายเวลาให้อีกแล้วถ้าดำเนินการล่าช้าไม่ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว

►แนวทางการจัดสรรเงินรายหัวให้กับนักเรียนในอนาคต

ขณะนี้เป็นช่วงการโอนเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับภาคเรียนที่ 2/2555 ให้กับโรงเรียน 3 รายการ คือ ค่าเล่าเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งต้องยอมรับว่าช้ามากๆสำหรับการดอนเงินครั้งนี้ ก็ไม่รู้จะโทษใครดี ก็หันไปโทษระบบข้อมูลที่ไม่เสถียร ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่า ที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดในการโอนเงินอุดหนุนดังกล่าวบ้างเหมือนกัน กล่าวคือ บางแห่งได้รับเงินเกิน บางแห่งได้รับเงินน้อยกว่าที่ตนเองจะได้ ทำให้เงินขาดไป เพื่อไม่ให้โรงเรียนเหนื่อยเกินไป สพฐ.ก็ใช้หลักการที่ว่า หากโอนเกินให้คืน หากโอนขาดก็จะโอนเพิ่มให้ ส่วนใหญ่ก็เรียบร้อยดีครับ จะมีก็เพียงบางแห่งที่ได้รับเงินเกินไปแต่ไม่ยอมคืน ดังนั้นการจัดสรรครั้งนี้ สพฐ.จึงไม่จัดสรรให้ เพราะถือเป็นการหักลบกลบหนี้ โดยให้โรงเรียนดังกล่าวใช้เงินส่วนเกินที่ยังไม่ได้ส่งคืน สพฐ. กลับกลายเป็นว่า เงินเก่าที่เกินก็ใช้หมดไปแล้ว ส่วนเงินใหม่ก็ไม่ได้รับจัดสรร จึงเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินใช้ในปัจจุบัน ก็คงต้องแก้ปัญหาเป็นรายๆไปครับ โดยอาจจัดสรรงบประมาณให้ไปใช้เป็นบางส่วนก่อน แต่ก่อนจะจัดสรรให้ จะให้ชี้แจงก่อนว่าโรงเรียนนำงบประมาณส่วนเกินไปใช้อะไรหมดทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใช้ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนมัธยมศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ส่งข้อมูลนักเรียน ถ้าไม่มีข้อมูลจำนวนนักเรียนก็ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ครับ

ขณะนี้เกิดแนวคิดในการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนให้กับผู้ปกครองโดยตรง ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปการเงินเพื่อการศึกษาได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวไว้นานแล้ว คงเข้าหลักที่ว่า “ใครถือเงิน คนนั้นมีอำนาจต่อรอง” ซึ่งเรื่องนี้ในหลายๆประเทศได้ดำเนินการแล้ว โดยจ่ายเงินอุดหนุนนักเรียนให้ผู้ปกครอง แล้วให้ผู้ปกครองนำไปจ่ายให้กับโรงเรียนตามรายการที่โรงเรียนเรียกเก็บ โรงเรียนก็จะพยายามสร้างความดีเด่นดัง ผู้ปกครองจะได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียน เมื่อมีนักเรียนโรงเรียนก็จะได้เงิน ในทางตรงข้ามถ้าไม่มีนักเรียน โรงเรียนก็จะไม่มีเงินเข้ามาบำรุงโรงเรียน ต่างจากโรงเรียนของไปในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าผลสัมฤทธิ์จะต่ำสักเพียงไรก็ตาม หรือไม่ผ่าน สมศ.ก็ตาม หรือไม่มีเด็กเหลืออยู่สักคนก็ตาม ครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เลขาธิการ กพฐ. ทุกคนก็คงยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเต็มทุกคน และไม่เคยมีใครถูกลงโทษ ปัจจุบัน สพฐ.ก็จ่ายเงินเรียนฟรีในรูปเงินสดให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง 2 รายการ คือ ค่าเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน และยังมีอีก 2 รายการที่ได้สำหรับนักเรียนยากจนและนักเรียนพักนอน และในอนาคตหากเป็นไปได้ สพฐ.อาจจ่ายเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนในลักษณะของบัตรเดบิต (Debit card) ซึ่งเป็นบัตรที่มีมูลค่าตามจำนวนเงินอุดหนุนที่นักเรียนได้รับ นักเรียนจะได้รับบัตรเดบิตคนละ 1 ใบ เพื่อใช้แทนเงินสดในการไปซื้อสินค้าและบริการเรื่องต่างๆ ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดกันอยู่ครับ ถ้ามีความคืบหน้าก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

►การยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบล

ขณะนี้ได้เกิดแนวคิดอย่างมีส่วนร่วมในระดับนโยบายถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับตำบลเกิดขึ้น โดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่า ในระดับตำบลจะมีโรงเรียนขนาดเล็กกระจายอยู่ ๒-๔ โรง และโรงเรียนเหล่านี้อยู่ท่ามกลางความขาดแคลนทรัพยากรในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวก็จะกลายเป็นเด็กด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีความพยายามที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในตำบลที่คาดว่าจะส่งผลให้คุณภาพของนักเรียนสูงขึ้น บางแห่งอาจใช้นวัตกรรมการหมุนเวียนครู หมุนเวียนคอมพิวเตอร์ หรือหมุนเวียนนักเรียน ไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่น ซึ่งหลายแห่งทำได้ดี เช่น สพป. เลย ๑(แก่งจันทร์โมเดล) สพป. เลย ๓(ลากข้างโมเดล) สพป. ลพบุรี เขต ๒(ใจประสานใจโมเดล) สพป. นครราชสีมา3 (ทุ่งหลวงโมเดล) สพป.นครสวรรค์1(พยุหะศึกษาคารโมเดล) สพป.แพร่1(บ้านห้วยโรงนอกโมเดล) สพป.อุดรธานี2(เสอเพลอโมเดล) สพป.พิษณุโลก1(วังน้ำคู้โมเดล)และยังมีอีกหลายแห่ง ซึ่งบางแห่งก็ยั่งยืน บางแห่งก็ไม่ยั่งยืน ทำๆ หยุดๆ แล้วแต่ผู้บริหารโรงเรียนและนโยบายระดับสูง

การสนับสนุนจากต้นสังกัดเพื่อให้นวัตกรรมดังกล่าวข้างต้นดูจะจริงจังขึ้นมาเสียแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความเห็นชอบที่จะให้ สพฐ. จัดทำรถตู้โดยสาร ๑๕ ที่นั่ง ตำบลละ ๑ คัน จำนวน 6,545 คัน (ตำบลทั้งหมดในประเทศไทยมี 7,409ตำบล แต่บางตำบลไม่มีโรงเรียน หรือบางตำบลมีโรงเรียนเป็นเอกเทศไม่ต้องหมุนเวียนเด็ก/ครูหรือบางตำบลเดินทางไปเรียนกับตำบลอื่น) รถยนต์ตู้โดยสารดังกล่าวนี้ จะใช้รับส่งนักเรียนในช่วงเช้า-เย็น กลางวันให้ อบต./เทศบาลตำบลนำไปใช้บริการชุมชน อาคารเรียนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อันเนื่องมาจากการรวมนักเรียนก็เปิดโอกาสให้ กศน. เข้ามาใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในระดับตำบล หรือให้พัฒนาชุมชนมาใช้เป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ของชุมชน โดย สพฐ. จะเป็นผู้ตั้งงบประมาณซื้อรถยนต์และค่าบำรุงรักษา ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้ตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าจ้างพนักงานขับรถและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถดังกล่าว ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีครับ ที่จะเกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้สูงขึ้น มีคำถามแล้วสิว่าจะได้จริงๆ หรือ ทำได้ครับ และมีตัวอย่างให้เห็นแล้วตามรายชื่อสำนักงานเขตพื้นที่ที่กล่าวถึงข้างต้น

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำงานนะครับ แล้วค่อยพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ 

สพฐ.ประกวด”แอพ”เสริมแท็บเล็ต

ที่มา   :  ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการเปิดตัว “โครงการประกวดสร้างสื่อการเรียนรู้…สู่แท็บเล็ต” (OTPC App Contest) เพื่อสนับสนุนให้ครู และประชาชนพัฒนาสื่อสำหรับนักเรียน ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบน ระบบแอนดรอยด์ โดยจะนำมาใช้กับแท็บเล็ตในโครงการแท็บเล็ต นักเรียน หรือโอทีพีซี

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ประธานเปิดโครงการ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันกำหนดเป็นนโยบายที่จะแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคนทั่วประเทศในปีการศึกษา 2555 ซึ่งปีถัดไปจะแจกให้นักเรียนชั้น ม.1 และจะขยายต่อไปเรื่อยๆ ให้ครบทุกชั้นปี เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนต่างๆ เป็นการยกระดับคุณภาพ กระจายโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศให้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว ก็เหมือนกับหุ่นยนต์ที่ยังไม่มีหน่วยความจำ ดังนั้นแอพพลิเคชั่นที่บรรจุลงไปในแท็บเล็ต ก็เหมือนทำให้หุ่นยนต์มีสมอง มีความรู้ ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่ดีจะเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดี และกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า โครงการประกวดนี้จัดขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-3 ที่หลากหลาย โดย สพฐ.จะจัดโรดโชว์ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ อุบลราชธานี มหาสารคาม เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยตั้งเป้าให้มีแอพพลิเคชั่นบนแท็บเล็ตหลังจบโครงการไม่น้อยกว่า 2,000 ชิ้น จากผลงานที่ส่งเข้าประกวด

การประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภท  คือ

        1.   แอพพลิเคชั่นประกอบการเรียน ที่ต้องสร้างเนื้อหาตามหลักสูตรการเรียน

        2.  แอพพลิเคชั่นสำหรับเรียนเสริมการสอน  เช่น  แผนภาพประกอบ

        3.  แอพพลิเคชั่นสำหรับสร้างองค์ความรู้  เป็นการฝึกที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

โดยมี 3 รางวัล  เป็นเงินสด  100,000 บาท  70,000 บาท  และ 50,000 บาท  ตามลำดับ พร้อมเกียรติบัตร